Friday, September 11, 2015

ดาวเคราะห์

ดาวเคราะห์
        ระบบสุริยะ มีดาวเคราะห์เป็นบริวารโคจรรอบดวงอาทิตย์ 8 ดวง ดาวเคราะห์ชั้นใน 4 ดวงแรก มีขนาดเล็กและมีพื้นผิวเป็นของแข็ง เนื่องจากอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก บรรยากาศจึงถูกทำลาย  ดาวเคราะห์ชั้นนอก 4 ดวงถัดไป เป็นดาวแก๊สขนาดใหญ่ เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ บรรยากาศจึงไม่ถูกทำลาย ดาวมีมวลมากทำให้แรงโน้มถ่วงมากตามไปด้วย จึงมีวงแหวนและดวงจันทร์บริวารหลายดวง

ดาวพุธ


ดาวพุธ

        ดาวพุธ (Mercury) เป็นดาวเคราะห์ซึ่งอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด เป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก และไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร โครงสร้างภายในของดาวพุธประกอบไปด้วยแกนเหล็กขนาดใหญ่มีรัศมีประมาณ 1,800 ถึง 1,900 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยชั้นที่เป็นซิลิเกต (ในทำนองเดียวกับที่แกนของโลกถูกห่อหุ้มด้วยแมนเทิลและเปลือก) ซึ่งหนาเพียง 500 ถึง 600 กิโลเมตร บางส่วนของแกนอาจจะยังหลอมละลายอยู่
        ในปี พ.ศ.2517 สหรัฐอเมริกาได้ส่งยานมารีเนอร์ 10 ไปสำรวจและทำแผนที่พื้นผิวดาวพุธเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก จึงสามารถทำแผนที่ได้เพียงร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมด  พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมบ่อมากมายคล้ายกับพื้นผิวดวงจันทร์ มีเทือกเขาสูงใหญ่และแอ่งที่ราบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป แอ่งที่ราบแคลอริสมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,300 กิโลเมตร นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า แอ่งที่ราบขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตในยุคเริ่มแรกของระบบสุริยะ
        ดาวพุธไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้ม ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก กลางวันจึงมีอุณหภูมิสูงถึง 430 °C  แต่กลางคืนอุณหภูมิลดเหลือเพียง -180°C อุณหภูมิกลางวันกลางคืนแตกต่างกันถึง 610°C





คำอธิบายภาพ
1. ภาพถ่ายดาวพุธจากยานเมสเซนเจอร์
2. แอ่งที่ราบแคลอริส
3. การแผ่กระจายของรอยแยกที่ใจกลางแอ่งแคลอริส
4. เครเตอร์สองชั้นที่แอ่งเรดิทแลดิ
5. บริเวณขั้วใต้

ข้อมูลสำคัญ​
ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 57.91 ล้านกิโลเมตร
คาบวงโคจร 87.97 วัน
ความรีของวงโคจร 0.206
ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 7°
แกนเอียง 0°
หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 58.65 วัน
รัศมีของดาว 2,440 กิโลเมตร
มวล 0.055 ของโลก
ความหนาแน่น 0.98 ของโลก
แรงโน้มถ่วง 0.38 ของโลก
องค์ประกอบของบรรยากาศที่เบาบางมาก ไฮโดรเจน, ฮีเลียม, โซเเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม
อุณหภูมิ  -180°C ถึง 430°C
ไม่มีดวงจันทร์​
ไม่มีวงแหวน

ดาวศุกร์


ดาวศุกร์

        ดาวศุกร์ (Venus) อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ไม่มีดวงจันทร์บริวาร ดาวศุกร์มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับโลก จนได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์ฝาแฝดกับโลกของเรา โครงสร้างภายในของดาวศุกร์ ประกอบด้วย แกนกลางที่เป็นเหล็กมีรัศมีประมาณ 3,000 กิโลเมตร ห่อหุ้มด้วยชั้นแมนเทิลที่มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร และเปลือกแข็งที่ประกอบด้วยหินซิลิเกต
        ยานอวกาศลำแรกที่เดินทางไปดาวศุกร์คือ มาริเนอร์ 2 ในปี พ.ศ.2505 หลังจากนั้นก็มีอีกหลายลำ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2532 ยานอวกาศแมกเจลแลนได้ใช้เรดาร์ในการสำรวจผ่านชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวศุกร์เพื่อทำแผนที่พื้นผิวของดาว การสำรวจโดยใช้สัญญาณเรดาร์ทำให้ทราบระดับสูงของพื้นผิวดาวศุกร์ และพบว่าพื้นผิวดาวศุกร์ปกคลุมไปด้วยภูเขาไฟใหญ่และที่ราบที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟหลายแห่ง นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นผิวดาวศุกร์ไม่มีหลุมอุกกาบาตขนาดเล็ก เนื่องจากว่า อุกกาบาตจะถูกเผาไหม้ไปจนหมดในระหว่างที่ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นของดาวศุกร์
        ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นมีความหนาแน่นมาก ความกดอากาศบนพื้นผิวดาวศุกร์สูงกว่าความกดอากาศบนพื้นผิวโลก 90 เท่า หรือมีค่าเท่ากับความดันที่ใต้ทะเลลึก 1 กิโลเมตร  บรรยากาศของดาวศุกร์ประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ และมีชั้นเมฆอยู่หลายชั้นที่ประกอบไปด้วยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (กรดกำมะถัน) ซึ่งมีความหนาหลายกิโลเมตร ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวดาวศุกร์  ชั้นบรรยากาศที่หนาทึบทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกกักเก็บความร้อนไว้ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 470°C  จะเห็นได้ว่าพื้นผิวดาวศุกร์ร้อนกว่าพื้นผิวดาวพุธมาก ทั้งๆ ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์กว่าดาวพุธถึงสองเท่าก็ตาม




คำอธิบายภาพ
1. ภาพถ่ายอินฟราเรดของดาวศุกร์ โดยยานไอโอเนียร์ 10 เมื่อปี พ.ศ.2522
2. ภาพจากเรดาร์ทำให้เห็นระดับสูงของพื้นผิวที่แตกต่างกัน
3. หลุมที่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งชน
4. ภูเขาไฟ Maat Mons
5. ซ้ายมือเป็นภาพเมฆชั้นบนในช่วงรังสี UV, ขวามือเป็นภาพเมฆชั้นล่างในช่วงรังสีอินฟราเรด
6. ดาวศุกร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์

ข้อมูลสำคัญ​
ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 108.21 ล้านกิโลเมตร
คาบวงโคจร 224.70 วัน
ความรีของวงโคจร 0.0068
ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 3.39°
แกนเอียง 177.3°
หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 243.02 วัน (หมุนย้อนทางกับดาวเคราะห์ดวงอื่น)
รัศมีของดาว 6,052 กิโลเมตร
มวล 0.815 ของโลก
ความหนาแน่น 0.95 ของโลก
แรงโน้มถ่วง 0.91 ของโลก
องค์ประกอบหลักของบรรยากาศ คาร์บอนไดออกไซด์
อุณหภูมิพื้นผิว  470°C
ไม่มีดวงจันทร์​ ไม่มีวงแหวน

โลก


โลก

        โลก (The Earth) เป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 3 และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมแป้นมีรัศมีเฉลี่ย 6,371 กิโลเมตร โครงสร้างภายในของโลกประกอบไปด้วยแก่นชั้นในที่เป็นเหล็ก มีรัศมีประมาณ 1,200 กิโลเมตร ห่อหุ้มด้วยแก่นชั้นนอกที่เป็นของเหลว (Liquid) ประกอบด้วยเหล็กและนิเกิล มีความหนาประมาณ 2,200 กิโลเมตร ถัดขึ้นมาเป็นชั้นแมนเทิลซึ่งเป็นของแข็งเนื้ออ่อนที่ยืดหยุ่นได้ (Plastic) ประกอบไปด้วย เหล็ก แมกนีเซียม ซิลิกอน และธาตุอื่นๆ มีความหนาประมาณ 3,000 กิโลเมตร เปลือกโลกเป็นของแข็ง (Solid) มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเฟลด์สปาร์ และควอตช์ (ซิลิกอนไดออกไซด์)
        บรรยากาศของโลกประกอบด้วยไนโตรเจน 77 % ออกซิเจน 21% ที่เหลือเป็นอาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ  คาร์บอนไดออกไซด์ช่วยในการกักเก็บความร้อนไว้ภายใต้ชั้นบรรยากาศโดยอาศัยภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกมีความอบอุ่น ไม่หนาวเย็นจนเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตามถ้าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากขึ้นก็จะทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจส่งผลให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้
        นอกจากนี้โลกยังมีสนามแม่เหล็กซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของแก่นชั้นนอกซึ่งเป็นเหล็กเหลว ถึงแม้ว่าสนามแม่เหล็กโลกจะมีความเข้มไม่มาก  แต่ก็ช่วยปกป้องไม่ให้อนุภาคที่มีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ (Solar wind) เดินทางผ่านมาที่ผิวโลกได้ โดยสนามแม่เหล็กจะกักให้อนุภาคเดินทางไปตามเส้นแรงแม่เหล็ก และเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้เพียงที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้เท่านั้น  เมื่ออนุภาคพลังงานสูงปะทะกับโมเลกุลของแก๊สในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดแสงสีสวยงาม สังเกตเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน เรียกว่า "แสงเหนือแสงใต้" (Aurora)



คำอธิบายภาพ
1. ภาพถ่ายโลกจากดาวเทียมหลายดวงมาต่อกัน
2. ธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติก
3. รูโอโซนที่ขั้วโลกใต้ (สีน้ำเงิน)
4. ชีวมณฑลซึ่งประกอบด้วยพืชพรรณ (สีเขียว) และแพลงตอนพืช (สีน้ำเงินเข้ม)
5. ระดับน้ำทะเลเมื่อเกิดสภาวะลานีญา (สีน้ำเงินม่วง แสดงระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ)
6. ความแตกต่างของสนามแรงโน้มถ่วงโลก (สีแดง มีความแรงมาก)

ข้อมูลสำคัญ​
ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 149.60 ล้านกิโลเมตร
คาบวงโคจร 365.26 วัน
ความรีของวงโคจร 0.0167
ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 0.00005°
แกนเอียง 23.45°
หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 23.93 ชั่วโมง
รัศมีของโลก 6,378 กิโลเมตร
มวล 5.97 x 1024 กิโลกรัม
ความหนาแน่น 5.515 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
แรงโน้มถ่วง 9.8 เมตร/วินาที
องค์ประกอบหลักของบรรยากาศ ไนโตรเจน ออกซิเจน
อุณหภูมิพื้นผิว  -88°C ถึง 58°C
มีดวงจันทร์ 1 ดวง​ ไม่มีวงแหวน

ดาวอังคาร


ดาวอังคาร

        ดาวอังคาร  (Mars) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด ดาวอังคารมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เท่าของโลก  ดาวอังคารมีโครงสร้างภายในประกอบด้วยแก่นของแข็งมีรัศมีประมาณ 1,700 กิโลเมตร ห่อหุ้มด้วยชั้นแมนเทิลที่เป็นหินหนืดหนาประมาณ 1,600 กิโลเมตร และมีเปลือกแข็งเช่นเดียวกับโลก   ดาวอังคารมีสีแดงเนื่องจากพื้นผิวประกอบด้วยออกไซด์ของเหล็ก (สนิมเหล็ก)  พื้นผิวของดาวอังคารเต็มไปด้วยหุบเหวต่างๆ มากมาย หุบเหวขนาดใหญ่ชื่อ หุบเหวมาริเนอริส (Valles Marineris) มีความยาว 4,000 กิโลเมตร กว้าง 600 กิโลเมตร ลึก 8 กิโลเมตร  นอกจากนี้ดาวอังคารยังมีภูเขาไฟที่สูงที่สุดในระบบสุริยะชื่อ ภูเขาไฟโอลิมปัส (Mount Olympus) สูง 25 กิโลเมตร  ฐานที่แผ่ออกไปมีรัศมี 300 กิโลเมตร
        ดาวอังคารมีบรรยากาศเบาบางมาก ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นส่วนใหญ่ซึ่งเกิดจากการระเหิดของน้ำแข็งแห้ง (คาร์บอนไดออกไซด์แข็ง) ปกคลุมอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวดาวอังคาร  ที่บริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวมีน้ำแข็ง (Ice water) ปกคลุมอยู่ตลอดเวลา  ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้แต่งนิยายวิทยาศาสตร์ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการสังเกตดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ และพบรูปร่างพื้นผิวที่คล้ายกับคลองส่งน้ำของมนุษย์ดาวอังคาร (ถ้ามีสิ่งมีชีวิตอยู่จริงบนดาวอังคาร) แต่หลังจากที่องค์การนาซาได้ส่งยานไปสำรวจดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราทราบว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงร่องรอยที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารโดยยานไวกิงออร์บิเตอร์ 1  และยานมาร์สโกลบอลเซอร์เวเยอร์พบร่องรอยท้องแม่น้ำที่เหือดแห้ง นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเคยมีสิ่งมีชิวิตอยู่บนดาวอังคารมาก่อน ก็น่าจะมีซากหรือฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นใต้ท้องน้ำหรือใต้น้ำแข็งที่ขั้วทั้งสองของดาวอังคาร
        ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารขนาดเล็ก 2 ดวง คือ โฟบัสและดีมอส ดวงจันทร์ทั้งสองดวงมีรูปร่างไม่สมมาตร และมีขนาดเล็กกว่า 25 กิโลเมตร  สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารดูดจับมาเป็นบริวาร ภายหลังการก่อตัวของระบบสุริยะ




คำอธิบายภาพ
1. ขั้วน้ำแข็งและบางพื้นที่ของดาวอังคารถูกปกคลุมด้วยเมฆน้ำแข็งสีขาว
2. ร่องรอยน้ำไหล
3. เม็ดกรวดสีน้ำเงิน สันนิษฐานว่าอาจเกิดขึ้นในสภาพใต้น้ำ
4. บริเวณสีน้ำเงินของแผนที่ มีน้ำแข็งฝังตัวอยู่ใต้พื้นผิว
5. หลุมอุกกาบาตแอนดูแรนซ์
6. แขนกลตรวจสอบหินบนดาวอังคาร
7. แขนกลตรวจสอบดินเยือกแข็งบนดาวอังคาร

ข้อมูลสำคัญ​
ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 227.94 ล้านกิโลเมตร
คาบวงโคจร 1.88 ปี (687 วัน)
ความรีของวงโคจร 0.0934
ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 1.8°
แกนเอียง 25.19°
หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 24.62 วัน
รัศมีของดาว 3,397 กิโลเมตร
มวล 0.107 ของโลก
ความหนาแน่น 0.714 ของโลก
แรงโน้มถ่วง 0.38 ของโลก
องค์ประกอบหลักของบรรยากาศ คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน อาร์กอน
อุณหภูมิ  -87°C ถึง -5°C
มีดวงจันทร์ 2 ดวง ​ ไม่มีวงแหวน

ดาวพฤหัสบดี


ดาวพฤหัสบดี

        ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวศุกร์  และเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ดาวพฤหัสบดีถูกสำรวจเป็นครั้งแรกโดยยานไพโอเนียร์ 10 ในปี พ.ศ.2516 ติดตามด้วย ไพโอเนียร์ 11, วอยเอเจอร์ 1, วอยเอเจอร์ 2, ยูลิซิส และกาลิเลโอ  ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์แก๊สซึ่งบรรยากาศหนาแน่น มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจน 90% และฮีเลียม 10% ปะปนด้วยมีเทน น้ำ และแอมโมเนียจำนวนเล็กน้อย ลึกลงไปด้านล่างเป็นแมนเทิลชั้นนอกซึ่งประกอบไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเหลว และแมนเทิลชั้นในที่ประกอบไปด้วยไฮโดรเจนซึ่งมีสมบัติเป็นโลหะ และแก่นกลางที่เป็นหินแข็งมีขนาดเป็น 2 เท่าของโลก
        ดาวพฤหัสบดีมีขนาดใหญ่กว่าโลกมาก แต่หมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบใช้เวลาไม่ถึง 10 ชั่วโมง แรงหนีศูนย์กลางเหวี่ยงให้ดาวมีสัณฐานเป็นทรงแป้น  และทำให้การหมุนเวียนของชั้นบรรยากาศแบ่งเป็นแถบสีสลับกัน แถบเหล่านี้เป็นเซลล์การพาความร้อน (Convection cell) แถบสีอ่อนคืออากาศร้อนยกตัว แถบสีเข้มคืออากาศเย็นจมตัวลง นอกจากนั้นยังมีจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) เป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้าง 25,000 กิโลเมตร สามารถบรรจุโลกได้สองดวง จุดแดงใหญ่เป็นพายุหมุนซึ่งมีอายุมากกว่า 300 ปี
        ปี พ.ศ.2552 ยานวอยเอเจอร์พบว่า ดาวพฤหัสบดีมีวงแหวนเช่นเดียวกับดาวเสาร์ แต่มีขนาดเล็กและบางกว่ามาก วงแหวนเหล่านี้ประกอบไปด้วยเศษหินและฝุ่นที่มีขนาดเล็ก แต่ไม่มีน้ำแข็งเป็นองค์ประกอบ จึงทำให้วงแหวนไม่สว่างมาก (หินและฝุ่นสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ไม่ดีเท่ากับน้ำแข็ง)  ปัจจุบันพบว่า ดาวพฤหัสมีดวงจันทร์อย่างน้อย 62 ดวง แต่มีเพียง 4 ดวงที่เป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรูปร่างเป็นทรงกลม ได้แก่ ไอโอ ยุโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต เรียกโดยรวมว่า ดวงจันทร์กาลิเลียน (Galilean moons) เนื่องจากเป็นดวงจันทร์ที่ค้นพบโดยกาลิเลโอ



คำอธิบายภาพ
1. ภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีจากยานแคสสินี จุดสีดำซ้ายมือคือ เงาของดวงจันทร์ยูโรปา
2. จุดแดงใหญ่
3. ภาพถ่ายในช่วงคลื่นรังสีอัลตราไวโอเล็ต แสดงให้เห็นแสงเหนือ (Aurora)
   และกระแสไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นในวงโคจรของดวงจันทร์ไอโอและยูโรปา
4. ระบบวงแหวนของดาวพฤหัสบดี

ข้อมูลสำคัญ​
ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 778.41 ล้านกิโลเมตร
คาบวงโคจร 11.86 ปี
ความรีของวงโคจร 0.048
ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 1.3°
แกนเอียง 3.12°
หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 9.92 ชั่วโมง
รัศมีของดาว 71,492 กิโลเมตร
มวล 317.82 ของโลก
ความหนาแน่น 1.33 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
แรงโน้มถ่วง 20.87 เมตร/วินาที2
องค์ประกอบหลักของบรรยากาศ ไฮโดรเจน ฮีเลียม
อุณหภูมิ  -148°C
ดวงจันทร์ที่ค้นพบแล้ว 62 ดวง ​วงแหวน 3 วง

ดาวเสาร์


ดาวเสาร์
        ดาวเสาร์ (Saturn) เป็นดาวเคราะห์ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ กาลิเลโอสังเกตดาวเสาร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2153  เขามองเห็นดาวเสาร์มีลักษณะเป็นวงรี จนกระทั่งปี พ.ศ.2202 คริสเตียน ฮอยเกนส์ พบว่าวงรีที่กาลิเลโอเห็นนั้นคือวงแหวนของดาวเสาร์  เป็นที่เชื่อกันว่าดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวของระบบสุริยะที่มีวงแหวน จนกระทั่งต่อมาได้มีการส่งยานอวกาศไปค้นพบวงแหวนบางๆ รอบดาวพฤหัสบดี ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ดาวเสาร์ถูกสำรวจโดยยานไพโอเนียร์ 11 ในปี พ.ศ.2522 ตามด้วยยานวอยเอเจอร์ 1 ยานวอยเอเจอร์ 2 และยานแคสสินีในปี พ.ศ.2547 บรรยากาศของดาวเสาร์เป็น ไฮโดรเจน 75% ฮีเลียม 25% ปะปนไปด้วยน้ำ มีเทน แอมโมเนีย จำนวนเล็กน้อย แถบสีบนดาวเสาร์เกิดขึ้นจากการหมุนรอบตัวเองเร็วมาก จนทำให้เกิดการหมุนวนของชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน จึงปรากฏเป็นแถบเข้มและจางสลับกันไป โครงสร้างภายในของดาวเสาร์มีลักษณะคล้ายคลึงกับของดาวพฤหัสบดี มีแกนกลางที่เป็นหินแข็ง ห่อหุ้มด้วยแมนเทิลชั้นในที่เป็นโลหะไฮโดรเจน และแมนเทิลชั้นนอกที่เป็นไฮโดรเจนและฮีเลียมเหลว
        ดาวเสาร์มีมวลมากจึงมีแรงโน้มถ่วงมาก สามารถดูดจับดาวเคราะห์น้อยและดาวหางมาเป็นบริวาร ได้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีดวงจันทร์ที่ถูกค้นพบแล้ว 62 ดวง ดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ ไททัน  (Titan) มีขนาดใหญ่หว่าดาวพุธ ไททันมีชั้นบรรยากาศหนาแน่นกว่าโลก มีองค์ประกอบเป็นมีเทนทั้งสามสถานะ บนไททันมีฝนมีเทน เมฆมีเทน และมีเทนแข็ง  แก๊สไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ คล้ายคลึงกับชั้นบรรยากาศของโลก ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์สนใจไททันมากเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่  ดวงจันทร์ที่มีขนาดรองลงมาได้แก่ รีอา ไดโอนี ไอเอพีทุส เทธิส เอนเซลาดุส และ มิมาส ส่วนใหญ่มีพื้นผิวเป็นน้ำแข็งและมีหินผสมอยู่เล็กน้อย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดวงจันทร์ของดาวเสาร์

วงแหวนดาวเสาร์
        ดาวเสาร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 10 AU จึงไม่ถูกรบกวนจากลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ จึงไม่สูญเสียบรรยากาศชั้นนอกและมีมวลมาก มวลมากย่อมมีแรงโน้มถ่วงมาก สามารถดูดจับดาวหางที่โคจรผ่านเข้ามา  ดาวหางมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็งจึงเปราะมาก  เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดาวเสาร์ แรงโน้มถ่วงมหาศาลจะทำให้เกิดแรงไทดัลภายในดาวหาง ด้านที่หันเข้าหาดาวเสาร์จะถูกแรงกระทำมากกว่าด้านอยู่ตรงข้าม ในที่สุดดาวหางไม่สามารถทนทานต่อแรงเครียดภายใน จึงแตกเป็นเศษเล็กเศษน้อยสะสมอยู่ในวงโคจรรอบดาวเสาร์และกลายเป็นวงแหวนในที่สุด ด้วยเหตุนี้วงแหวนของดาวเสาร์จึงประกอบด้วยอนุภาคจำนวนมหาศาลซึ่งมีวงโคจรอิสระ มีขนาดตั้งแต่เซนติเมตรไปจนหลายร้อยเมตร ส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำแข็ง ปะปนอยู่กับเศษหินเคลือบน้ำแข็ง วงแหวนของดาวเสาร์บางมาก แม้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 250,000 กิโลเมตร แต่มีความหนาไม่ถึง 1.5 กิโลเมตร วงแหวนแต่ละชั้นมีชื่อเรียกตามอักษรภาษาอังกฤษ เช่น วงแหวนสว่าง (A และ B) และวงสลัว (C) ช่องระหว่างวงแหวน A และ B เรียกว่า ช่องแคสสินี (Cassini division )



คำอธิบายภาพ
1. ภาพถ่ายดาวเสาร์จากยานแคสสินี
2. แถบเงาของดวงจันทร์ขนาดเล็กชื่อ แพน ทางไปบนวงแหวนของดาวเสาร์
3. ภาพถ่าย False color ของยานแคสสินี ทำให้เห็นรายละเอียดของแถบเมฆบนดาวเสาร์
4. จุดพายุบนขั้วเหนือของดาวเสาร์
5. สีของดาวเสาร์เปลี่ยนไปขณะที่โคจรเข้าใกล้อีควินอกซ์ (จุดที่กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน)

ข้อมูลสำคัญ​
ระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 1,427 ล้านกิโลเมตร
คาบวงโคจร 29.4 ปี
ความรีของวงโคจร 0.054
ระนาบวงโคจรทำมุมกับระนาบสุริยวิถี 2.484°
แกนเอียง 26.73°
หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 10.66 ชั่วโมง
รัศมีของดาว 60,268 กิโลเมตร
มวล 95.16 ของโลก
ความหนาแน่น 0.7 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร (น้อยกว่าน้ำ)
แรงโน้มถ่วง 7.2 เมตร/วินาที2
องค์ประกอบหลักของบรรยากาศ ไฮโดรเจน ฮีเลียม
อุณหภูมิ  -178°C
ดวงจันทร์ที่ค้นพบแล้ว 62 ดวง ​
วงแหวนที่ค้นพบแล้ว 7 วง